บริการตรวจระบบดับเพลิง / ปั้มน้ำดับเพลิง

ตรวจสอบปั้มน้ำดับเพลิง

การทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงโดยอ้างอิงตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล (NFPA 25, Standard for the Inspection, Testing, and Maintenance of Water Based Fire Protection Systems) เครื่องสูบน้ำดับเพลิงจะต้องมีประสิทธิภาพที่ลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของความดันที่ถูกออกแบบตามที่มีข้อมูลระบุไว้ (Name Plate) หรือความดันด้านส่งจะต้องลดลงไม่เกินกว่า 5 เปอร์เซนต์ในแต่ละจุดความดันที่ได้ออกแบบและรับรองไว้จากผู้ผลิต ถ้าความดันมีการเปลี่ยนแปลงเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ต้องหาสาเหตุและแก้ไข

การตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำดับเพลิง

เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ข้อกำหนดของมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัยและข้อกำหนดของมาตรฐานสากล จึงต้องพิจารณาดำเนินการตามข้อแนะนำดังนี้

1. ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เพียงพอกับการดูแลรักษาระบบสูบน้ำดับเพลิง เพื่อทำหน้าที่เดินทดสอบเครื่องสูบน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์ส่วนประกอบ เป็นประจำพร้อมทั้งคอยตรวจสอบและซ่อมบำรุงตามความจำเป็น เพื่อให้เครื่องสูบน้ำดับเพลิงอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ

2. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552 หมวดที่ 4 ข้อ 10 ระบุว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดเตรียมน้ำสำหรับดับเพลิงในปริมาณที่เพียงพอที่จะส่งจ่ายน้ำให้กับอุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบนาที และข้อ 11 ระบุว่า การติดตั้งระบบน้ำดับเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

3. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552 หมวดที่ 6 ข้อ 15 ระบุว่า ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและระงับอัคคีภัยให้สามารถพร้อมทำงานได้ตลอดเวลา ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

4. กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 หมวด 1 บททั่วไป ข้อ 1 ให้นายจ้างจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการตามกฎกระทรวงนี้ และต้องดูแลระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

5. กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 หมวด 3 การดับเพลิง ข้อ 12(2) ระบบการส่งน้ำ ที่เก็บกักน้ำ เครื่องสูบน้ำดับเพลิงและการติดตั้ง จะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองจากวิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร และต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากเพลิงไหม้ ยานพาหนะหรือสิ่งอื่น

6. แนะนำให้ต้องทดสอบการทำงานของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเป็นประจำ ทุกๆสัปดาห์ (สำหรับระบบส่งกำลังด้วยเครื่องยนต์) และทุกๆเดือน(สำหรับระบบส่งกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า) ที่อัตราความเร็วรอบการทำงาน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที และ 10 นาที ตามลำดับ เพื่อให้ระบบส่งกำลังร้อนถึงอุณหภูมิทำงาน ตรวจสอบสภาพของเครื่องสูบน้ำ ชุดควบคุมการทำงานของเครื่องสูบน้ำ และสถานะความดันน้ำในระบบท่อด้านดูด และท่อด้านจ่ายจากมาตรวัดความดัน(Pressure Gauge)

7. (สำหรับระบบส่งกำลังด้วยเครื่องยนต์) แนะนำให้ทำการตรวจสอบแบตเตอรี่ทุกๆสัปดาห์ เช่น ระดับน้ำกลั่นของแบตเตอรี่ จะต้องมีระดับที่ท่วมแผ่นธาตุตลอดเวลา รวมทั้งเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกๆ 2 ปี เนื่องจากการเสื่อมสภาพที่เกิดจากระยะเวลาการใช้งาน (ระบบแบตเตอรี่ต้องมีประสิทธิภาพที่ดีและพร้อมใช้งานทั้ง 2 ชุด)

8. (สำหรับระบบส่งกำลังด้วยเครื่องยนต์) แนะนำให้ต้องทำการตรวจสอบน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการใช้งานของเครื่องยนต์ให้พร้อมอยู่เสมอและควรต้องมีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับใช้เพื่อการดับเพลิงไม่น้อยกว่า 2/3 ของขนาดถังบรรจุหรือสามารถใช้งานต่อเนื่องได้เป็นเวลา 8 ชั่วโมง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

9. แนะนำให้ต้องตรวจสอบปริมาณของน้ำสำหรับใช้เพื่อการดับเพลิง ทุกๆ สัปดาห์ และต้องตรวจสอบสภาพของบ่อเก็บน้ำต้องไม่พบรอยแตกร้าวและรอยรั่วซึมของน้ำ เป็นประจำทุกๆ เดือน

10. แนะนำให้ควรมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง โดยการทดสอบปริมาณการสูบน้ำและความดัน (Performance Test) เป็นประจำทุกๆ 1 ปี เพื่อตรวจสอบว่าเครื่องสูบน้ำดับเพลิงยังมีประสิทธิภาพสำหรับการใช้งานได้ตามเกณฑ์ข้อกำหนดของมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย(วสท.3002-50 ภาคที่ 5 หมวดที่ 5 เครื่องสูบน้ำดับเพลิงและการติดตั้ง ข้อที่ 5.5.4.2 คุณลักษณะของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง) หรือม่

11. ปริมาณการส่งจ่ายน้ำสำหรับท่อยืนประเภทที่ 1 และ 3

a. ต้องมีอัตราการไหลไม่น้อยกว่า 1,893 ลิตรต่อนาที (500 แกลลอนต่อนาที) เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที

b. ในกรณีที่ระบบท่อยืนมีมากกว่าหนึ่งท่อ ปริมาณการส่งจ่ายน้ำจะต้องไม่น้อยกว่า 1,893 ลิตรต่อนาที (500 แกลลอนต่อนาที) สำหรับท่อยืนท่อแรกและ 946 ลิตรต่อนาที (250 แกลลอนต่อนาที) สำหรับท่อยืนแต่ละท่อที่เพิ่มขึ้น ในกรณีที่ปริมาณการส่งน้ำรวมของท่อยืนเกิน 4,731 ลิตรต่อนาที (1,250 แกลลอนต่อนาที) ให้ใช้ปริมาณการส่งน้ำที่ 4,731 ลิตรต่อนาที หรือมากกว่าได้

c. ระบบส่งน้ำจะต้องมีความดันพอเพียง เพื่อให้มีความดันที่จุดไกลสุดและสูงสูดของท่อยืน 448 กิโลปาสกาล (65 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) ด้วยปริมาณการส่งน้ำ 1,893 ลิตรต่อนาที (500 แกลลอนต่อนาที) ที่จุดไกลสุดท้ายและสูงสุดของท่อยืน

d. ในกรณีที่ขนาดของระบบท่อยืนได้มาจากการคำนวณตามหลักการกลศาสตร์ของไหล ความดันที่จุดหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงที่อยู่ไกลที่สุดจะต้องมีความดัน 448 กิโลปาสกาล (65 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) ด้วยอัตราการไหลของน้ำ 1,893 ลิตรต่อนาที (500 แกลลอนต่อนาที) ออกจากหัวฉีดอย่างน้อย 2 หัว

12. ปริมาณการส่งจ่ายน้ำสำหรับท่อยืนประเภทที่ 2

a. สำหรับวาล์ว และสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 40 มิลลิเมตร (1 ½ นิ้ว) จะต้องมีอัตราการไหลไม่น้อยกว่า 379 ลิตรต่อนาที (100 แกลลอนต่อนาที)

b. สำหรับวาล์วและสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 25 มิลลิเมตร (1 นิ้ว) จะต้องมีอัตราการไหลไม่น้อยกว่า 50 ลิตรต่อนาที

c. ความดันที่จุดหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงที่อยู่ไกลที่สุด จะต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ 448 กิโลปาสกาล (65 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว)